เชื่อว่าไม่มีนักเรียนแฟชั่นคนไหนไม่เคยได้ยินชื่อ Alexander McQueen (อเล็กซานเดอร์ แมคควีน) เด็กหนุ่มชนชั้นกลางจากกรุงลอนดอน ที่ใช้ความสามารถและความลุ่มหลงในการตัดเย็บเสื้อผ้าเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความรู้สึก ความอัดอั้นตันใจ และตัวตนที่ถูกเก็บซ่อนไว้ เพื่อรอวันปะทุและระเบิดสู่สายตาสาธารณชน เป็นเวลากว่า 10 ปีที่แมคควีนโลดแล่นอยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่น สร้างชื่อเสียงระดับโลกและเป็นที่ยอมรับในแวดวงแฟชั่นชั้นสูง แต่เขากลับปลิดชีวิตตนเองลงในวันที่สูญเสียคนที่รักที่สุดไป
นี่คือเรื่องราวของ Lee Alexander McQueen ผ่านภาพยนตร์สารคดีที่บอกเล่าตัวตนของเขา
“แบรนด์ของผมก็จะตายไปพร้อมกับผมนี่ล่ะ”
“เพราะคอลเลคชั่นของผมเป็นเรื่องส่วนตัวมาก ถ้าไม่ใช่ผม แล้วใครจะทำออกมาได้”
เมื่อถูกถามถึงการรับช่วงต่อแบรนด์ภายใต้ชื่อของเขา อเล็กซานเดอร์ แมคควีนเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “แบรนด์จะตายไปพร้อมกับผม” แต่หลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว 8 ปี ปัจจุบันแบรนด์ Alexander McQueen ยังคงเป็นหนึ่งในแบรนด์แฟชั่นชั้นนำภายใต้การดูแลของ Creative Director คนปัจจุบัน Sarah Burton อดีตมือขวาของแมคควีนเอง
“I always wanted to be a designer.
I read books on fashion from the age of 12.”
ในวัยเด็ก การศึกษาดูจะเป็นสิ่งเดียวที่ชี้วัดความสำเร็จของเด็กแต่ละคน แต่ไม่ใช่กับแมคควีนเพราะเขาตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 16 ปี ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ชอบเรียนหนังสือ แต่เขากลับมีความสนใจและความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าทางศิลปะและการออกแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย
แมคควีนสมัครเข้าฝึกงานตามคำแนะนำของมารดาที่ Savile Row สถานที่รับตัดสูทแบบ tailor-made (สั่งตัดเฉพาะบุคคล) ใจกลางกรุงลอนดอน ที่ๆ ทำให้เขาได้ฝึกปรือฝีมือและเรียนรู้การตัดเย็บตามแบบธรรมเนียมปฏิบัติอย่างถูกต้อง จนแมคควีนมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการตัดเย็บและทำแพทเทิร์นเสื้อผ้าอย่างสูง ทำให้เขาสามารถเนรมิตสิ่งต่างๆ ที่คิดให้ออกมาสวมใส่อยู่บนร่างกายได้จริง
“You’ve got to know the rules to break them.
That’s what I’m here for,
to demolish the rules but keep the tradition”.
หลังจากนั้นแมคควีนก็เข้าเรียนต่อและสำเร็จการศึกษาจาก Central Saint Martins มหาวิทยาลัยศิลปะที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ สถานที่ที่ทำให้ชื่อและผลงานของเขาไปเตะตาผู้หญิงที่ชื่อ Isabella Blow (อิซเบลล่า โบลว์) เข้าอย่างจัง และเป็นเธอคนนี้ที่พาเขาก้าวเข้าสู่วงการแฟชั่นอย่างเต็มตัว
โบลว์ทำงานให้กับนิตยสาร Vogue และตัวเธอเองก็เป็นแฟชั่นไอคอนคนสำคัญของวงการ จากรสนิยมการแต่งตัวที่ไม่เหมือนใคร ความกล้าที่จะแตกต่างทำให้เธอโดดเด่นและเป็นที่จับตามอง ในปี 1992 โบลว์มีโอกาสได้ดูโชว์จบการศึกษาของนักเรียน Central Saint Martins และติดใจคอลเลคชั่น Jack The Ripper Stalks His Victims ของแมคควีนเป็นอย่างมากจนเหมาซื้อทั้งหมด อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งสองได้รู้จัก และพัฒนาความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นโบลว์อีกเช่นกันที่แนะนำให้แมคควีนตัดชื่อจริงของเขาทิ้ง และใช้เฉพาะชื่อกลางกับนามสกุลเป็นชื่อแบรนด์แทน จะเรียกว่าเธอเป็นผู้ให้กำเนิด Alexander McQueen สู่โลกแฟชั่นก็ไม่ผิดนัก
“Fashion can be really racist,
looking at the clothes of other cultures as costumes”
ผลงานของแมคควีนเป็นที่รู้จักและโด่งดังด้วยลักษณะเฉพาะตัวที่มีกลิ่นอายของละครเวที ฉาก แสง สี เสียงและการสร้างอารมณ์ร่วมให้กับผู้ชมในแต่ละโชว์ มักถูกรังสรรค์ขึ้นมาราวกับใช้เวทมนตร์ แต่ถึงแม้เสื้อผ้าของแมคควีนจะน่าสนใจเพียงใด ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำโชว์แต่ละครั้งของเขาก็มีเสน่ห์และเป็นที่ต้องการไม่แพ้กัน จนผู้คนในวงการแฟชั่นต่างแย่งชิงเพื่อที่จะได้นั่ง front row และรอชมสิ่งที่แมคควีนเตรียมไว้เซอร์ไพรส์พวกเขา
“Fashion should be a form of escapism,
and not a form of imprisonment.“
ในขณะที่แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานแต่ละคอลเลคชั่นนั้นมักเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับแมคควีนเสมอ เพราะเขามักจะใช้ความรู้สึกส่วนตัว หรือเหตุการณ์ในอดีตมาเล่าในรูปแบบใหม่ ที่แม้แต่ตัวเขาเองยังเคยให้สัมภาษณ์ว่า “หากคุณต้องการรู้จักตัวตนของผม ให้ดูที่งานของผม”
และเนื่องจากเขามีความคาดหวังอย่างแรงกล้าต่ออารมณ์ของผู้ชม แมคควีนจึงทุ่มเทสร้างสรรค์โชว์ทุกครั้งอย่างเต็มความสามารถ อย่างที่ตัวเขาเองได้กล่าวไว้ว่า “ผมอยากให้หลังโชว์จบลง คุณก้าวออกมาด้วยความรู้สึกอะไรบางอย่างที่ตกค้างอยู่ ไม่ว่าคุณจะชอบมันมากหรืออาจจะเกลียดมันไปเลยก็ได้ แต่ตราบใดที่คุณเกิดความรู้สึกผมจะถือว่าได้ทำหน้าที่ของตัวเองสำเร็จลุล่วงแล้ว”
ในภาพยนตร์สารคดี McQueen ที่ออกฉายในปี 2018 นี้ว่าด้วยประวัติความเป็นมาของทั้งตัวแมคควีนและการก่อร่างสร้างแบรนด์ของเขา โดยถูกแบ่งออกเป็นแต่ละช่วงตอนด้วยคอลเลคชั่นที่น่าจดจำ ตั้งแต่สมัยแมคควีนยังเป็นนักศึกษาจบใหม่ไม่มีเงินทุน ไปจนถึงการได้รับคัดเลือกเป็น Creative Director ให้กับแบรนด์ฝรั่งเศสที่มีประวัติมายาวนานอย่าง Givenchy และสุดท้ายการที่เขาได้เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ เมื่อ Gucci Group เข้าซื้อแบรนด์ Alexander McQueen ทำให้เขาสามารถถ่ายทอดความบ้าคลั่งออกมาได้ในแต่ละโชว์ หนึ่งในนั้นคือคอลเลคชั่นในตำนานที่มีชื่อว่า VOSS
“I think there is beauty in everything.
What ‘normal’ people would perceive as ugly,
I can usually see something of beauty in it.”
VOSS คือชื่อคอลเลคชั่น Spring/Summer ในปี 2001 หนึ่งในโชว์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดของ Alexander McQueen และเป็นหมุดหมายสำคัญของแบรนด์ในการสร้างตัวตนและทิศทางการนำเสนอแนวความคิดทางศิลปะสู่สาธารณชน เพราะ VOSS ได้ทำหน้าที่มากกว่าการเป็นแค่คอลเลคชั่นเสื้อผ้า มากกว่าแฟชั่นโชว์ และมีมูลค่ามากกว่าเม็ดเงินที่หมุนเวียนในอุตสาหกรรมแฟชั่น

“I like to think of myself as a plastic surgeon with a knife”
แต่ VOSS คือการปาระเบิดลูกใหญ่เข้าใส่วงการ ด้วยการตั้งคำถามถึงความงามตาม “รูปแบบประเพณีนิยม” ที่ผู้คนในแวดวงแฟชั่นกำลังขับเคลื่อนกันอยู่ แมคควีนนำเสนอความอัปลักษณ์ ความผิดปรกติของผู้ป่วยทางจิต ผ่านการใช้พื้นที่เสมือนจริงของโรงพยาบาลจิตเวท สร้างสถานการณ์ที่น่าอึดอัดใจ ด้วยการปล่อยให้ผู้ชมนั่งประจันหน้ากับกล่องกระจกขนาดใหญ่ที่มองสะท้อนเห็นตนเองเป็นเวลาหลายชั่วโมงก่อนโชว์เริ่ม
อีกทั้งยังทำลายรูปแบบเดิมๆ ของแฟชั่นโชว์ด้วยการนำคนธรรมดาที่มีรูปลักษณ์ “ไม่สวยงาม” หรือ “ไม่สมบูรณ์แบบ” มาร่วมแสดงบนรันเวย์ โดยเป็นการจำลองภาพถ่าย Sanitarium ของ Joel-Peter Witkin ในเซอร์ไพรส์สุดท้ายขณะที่ทุกคนคิดว่าโชว์จบลงแล้ว
“People find my things sometimes aggressive.
But I don’t see it as aggressive. I see it as romantic,
dealing with the dark side of personality”
แต่ถึงแม้แมคควีนจะดูหมกหมุ่นและมีความขบถในตัวมากเพียงใด ชีวิตส่วนตัวเขากลับเป็นเพียงเด็กหนุ่มแสนอ่อนไหวที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเพื่อนและคนในครอบครัว แม้กระทั่งกับสัตว์เลี้ยงของเขาเองก็เช่นกัน โดยแมคควีนเคยสร้างสรรค์คอลเลคชั่นที่อุทิศให้กับสุนัขตัวโปรดมาแล้ว
สารคดีนี้ใช้การเล่าเรื่องโดย footage ในวันที่ตัวเขายังมีชีวิตอยู่ สลับไปกับบทสัมภาษณ์อดีตเพื่อนร่วมงาน เพื่อนสนิท และสมาชิกในครอบครัวแมคควีนหลายคน โดยหนึ่งในนั้นได้กล่าวว่า ในระยะหลังแมคควีนมีความเครียดจากการทำงานอย่างเห็นได้ชัด จนปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาอาจคิดถึงเรื่องความตายอยู่ในหัวบ้างไม่มากก็น้อย
โดย Sebastian Pons หนึ่งในอดีตเพื่อนร่วมงานตั้งแต่ยุคแรกของแมคควีนยังอดสังเกตไม่ได้ จนเขาได้แสดงความคิดเห็นในสารคดีว่า “หากลีไม่คิดจะฆ่าตัวตายมาก่อน แล้วทำไมคอลเลคชั่นสุดท้ายจึงเป็นคอลเลคชั่นที่ดีที่สุดในชีวิตของเขา” ซึ่งคอลเลคชั่นดังกล่าวเป็นการรวบรวมทุกสิ่งที่เป็นแมคควีน จนเรียกได้ว่าเป็นบทสรุปที่สมบูรณ์แบบที่สุด เป็นผลงานมาสเตอร์พีซที่มีชื่อว่า Plato’s Atlantis
“There is no way back for me now.
I am going to take you on journeys
you’ve never dreamed were possible.”
Plato’s Atlantis ข้ามผ่านความงามตามสรีระของมนุษย์หรือสุภาพสตรีไปสู่กายภาพของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเหล่าแมลง ผีเสื้อ รายละเอียดและสีสันต่างๆ ที่เคยมีขนาดเล็กจิ๋วถูกนำมาขยายใหญ่และเรียงลำดับความน่าสนใจบนเรือนร่างของมนุษย์แทน แมคควีนนำเสนอความงามที่อาจไม่เคยได้รับความสนใจ กระตุ้นให้มนุษย์ผู้สวมใส่คำนึงถึงรายละเอียดปลีกย่อยที่ถูกละเลย และอาจสูญหายไปในไม่ช้าหากมนุษย์ยังคงทำร้ายธรรมชาติอย่างต่อเนื่องเช่นทุกวันนี้
อีกทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ควบคู่กัน ทั้งบนรันเวย์อย่างหุ่นยนต์สองตัว และเทคนิคการสร้างสรรค์รองเท้าด้วย 3D printer แมคควีนเป็นคนชอบทดลองและแหกขนบธรรมเนียมเดิมๆ อยู่แล้ว จึงไม่แปลกที่เทคโนโลยีจะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เขาโปรดปราน เพราะเขาไม่เคยหยุดอยู่กับที่แต่พร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างบ้าคลั่ง
“I want people to be afraid of the women I dress.”
จากผลงานในแต่ละซีซั่นที่สามารถเซอร์ไพรส์คนดูได้เสมอ แมคควีนได้รับการยกย่องว่าเป็นอัจฉริยะของวงการ กระทั่งดีไซน์เนอร์ที่มีประสบการณ์มากกว่ายังออกมาชื่นชมเขา แต่สำหรับตัวแมคควีนเอง เขาไม่เคยให้ความสำคัญและทุ่มเทกับอะไรไปมากกว่างานที่เขาทำ และบุคคลที่เขารัก จึงไม่แปลกใจที่เมื่อคุณแม่ที่เขารักที่สุดเสียชีวิตลง แมคควีนจะตัดสินใจจบชีวิตตัวเองตามไปในคืนก่อนงานศพของเธอ
นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการแฟชั่น การเสียชีวิตของแมคควีนกลายเป็นข่าวช็อคชั่วข้ามคืน เพื่อนสนิทของเขาหลายคนยังไม่เชื่อว่ามันเกิดขึ้นจริง แมคควีนมีพรสวรรค์ มีชื่อเสียงเงินทอง เป็นอัจฉริยะที่หาตัวจับยาก เขามีทุกอย่างที่คนๆ หนึ่งพึงอยากมี แต่เมื่อเขาขับเคลื่อนตัวเองด้วยอารมณ์และความรู้สึกเสมอมา จึงไม่แปลกเมื่อในวันที่คนที่รักที่สุดได้จากไป เขาจึงรู้สึกราวกับไม่เหลืออะไรเลย
หลังจากแมคควีนเสียชีวิตลง แบรนด์ของเขายังคงดำเนินต่อไปภายใต้การกุมบังเหียนของ Creative Director คนใหม่ ซาร่า เบอร์ตัน อดีตนักศึกษาฝึกงานและมือขวาของแมคควีน สื่อต่างจับตามองเสียงตอบรับที่จะเกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลง ซาร่าแสดงให้ทุกคนเห็นว่าเธอไม่ได้เป็นเพียงเด็กสาวที่อยู่ข้างหลังแมคควีนอีกต่อไปแล้ว ผลงานของเธอได้รับเสียงชื่นชมในเชิงบวก และได้รับแรงสนับสนุนมากมายจากแฟนๆ ทั้งหมดเป็นเพราะซาร่าเข้าใจตัวตนของแบรนด์อย่างถ่องแท้ สามารถนำเสนอแง่มุมที่อ่อนหวานของแมคควีนออกมาได้อย่างเหลือเชื่อ จนได้รับความไว้วางใจให้ตัดเย็บชุดแต่งงานให้กับเคท มิดเดิลตันในปี 2011
ภายในปีเดียวกัน The Metropolitan Museum หรือ The Met ได้จัดนิทรรศการเพื่อระลึกถึงแมคควีนในชื่อ Savage Beauty ซึ่งนิทรรศการดังกล่าวได้เดินทางมาถึงบ้านเกิดของแมคควีนในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษในปี 2015 และกลายเป็นนิทรรศการที่ทำลายทุกสถิติของ Victoria & Albert Museum
Savage Beauty กลายเป็นนิทรรศการในตำนานของ V&A ที่มียอดจำหน่ายบัตรเข้าชมล่วงหน้าไปเกือบหนึ่งแสนใบ และยังเป็นนิทรรศแรกที่เปิดให้เข้าชมตลอด 24 ชั่วโมง มีผู้ชมหลากหลายจาก 87 ประเทศทั่วโลก อีกทั้งเนื้อหาทางเว็บไซต์ยังได้รับการเข้าชมมากกว่า 3.5 ล้านครั้ง นี่อาจเป็นเสียงตอบรับและเครื่องยืนยันว่าแฟนๆ ยังคงให้เกียรติและคิดถึงดีไซน์เนอร์อัจฉริยะคนนี้มากเพียงใด
ถึงแม้ในวันนี้เราจะไม่มีโอกาสได้เห็นผลงานใหม่ๆ จากชายที่ชื่อ ลี อเล็กซานเดอร์ แมคควีนอีกแล้ว แต่ตำนานและความสามารถเฉพาะตัวยังคงตอกย้ำให้โลกระลึกถึงเขาอยู่เสมอ ผ่านผลงานของแบรนด์ Alexander McQueen ที่เขาก่อตั้ง ผ่านนิทรรศการที่บอกเล่าแรงบันดาลใจในสิ่งที่เขาทำ และผ่านภาพยนตร์สารคดีที่นำเสนอแง่มุมส่วนตัวที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน แมคควีนคือศิลปินตัวจริงที่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครก้าวไปถึงจุดที่เขาอยู่ได้ จุดที่ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเอง จริงใจ มุ่งมั่น และทุ่มเทในสิ่งที่ทำ จนสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นความรักที่ทำให้ผู้อื่นรู้สึกได้เช่นกัน
“No one discovers McQueen, McQueen discovers himself.”
แหล่งข้อมูล:
- https://www.vam.ac.uk/museumofsavagebeauty/
- https://www.crfashionbook.com/culture/a21626353/alexander-mcqueen-documentary-interview/
- https://www.vogue.com/article/designer-sarah-burton-alexander-mcqueen-history-future-of-brand
- https://www.wmagazine.com/story/alexander-mcqueen-documentary-tribeca-film-festival
- https://whiledarceysleeps.com/2015/03/18/mcqueen-for-a-day/
- https://www.etonline.com/everything-we-never-knew-about-alexander-mcqueen-the-late-designer-of-the-line-kate-middleton
- https://vossehf.wordpress.com/about/voss/
- https://bon.se/blogs/vnivrs/the-stages-of-alexander-mcqueen-ss-2001-voss/
- https://www.vogue.com/fashion-shows/spring-2010-ready-to-wear/alexander-mcqueen