หลังจากตื่นเช้ามาและพบว่าอากาศดี ทำให้คุณแม่ตัดสินใจขอกลับไปแก้มือที่ Peterhof อีกรอบ ถ้ายังจำได้ วันก่อน (วันแรกที่ถึงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) เราได้เข้าไปดูห้องจัดแสดงด้านใน Grand Palace เรียบร้อย แต่พ่ายแพ้ต่อพายุหิมะ ทำให้ไม่ได้สำรวจภูมิทัศน์ด้านนอกที่เค้าว่ากันว่าสวยนักหนา แล้วไหนจะน้ำพุที่เป็นสัญลักษณ์ของ Peterhof ที่เรายังไม่ได้มีโอกาสถ่ายรูป สำหรับแม่แล้ว การไม่ได้ถ่ายรูปไฮไลท์ของสถานที่นั้นๆ แปลว่าเรายังมาไม่ถึง (หรือเพื่อนแม่ยังมาไม่ถึงนั่นเอง)
ที่สำคัญที่เรายอมกลับมาอีกรอบ เพราะจำได้ว่าร้านหนังสือที่นี่ดีมาก อยากกลับมาซื้อหนังสือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับผู้ปกครองประเทศรัสเซีย ตอนนั้นมองข้ามไปเพราะคิดว่าคงขี้เกียจจนไม่ได้อ่าน แต่ถ้าไม่มีหนังสือเล่มที่ซื้อมานี้ คงจะไม่มีข้อมูลที่ใช้เขียนโพสทั้งหมดให้ได้อ่านกันแน่ๆ ต้องขอบคุณแม่ที่อุตส่าห์กลับมาอีกรอบ และขอแนะนำว่า หากไปเที่ยวที่ไหนแล้วอยากได้ของที่ระลึกของสถานที่นั้นๆ เก็บไว้ ซื้อเลยค่ะ จะได้ไม่ต้องเสียใจภายหลัง เพราะอาจจะไม่โชคดีได้มีเวลาตามกลับมาเก็บอีกแล้ว
Lomo LC-A with Fuji film 200
มีเรื่องตลกแต่เป็นความจริงเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กคือ ใน 1 ปีจะมีวันที่อากาศดี ท้องฟ้าแจ่มใสอยู่แค่ประมาณ 62 วันเท่านั้น พอรู้อย่างนี้แล้วก็ไม่ค่อยเสียใจเท่าไหร่ที่ไม่ได้เห็นน้ำพุเปิด เพราะก็คงเหมือนกับนักท่องเที่ยวส่วนมากที่ต้องเจอชะตากรรมเดียวกัน
ความพิเศษของน้ำพุซึ่งเป็นที่เชิดหน้าชูตาของที่นี่ คือการใช้นวัตกรรมธรรมชาติ กล่าวคือ กลไกการเปิดน้ำพุนั้นไม่มีการใช้ระบบปั๊มในการฉีดน้ำแม้แต่น้อย หากแต่เป็นการออกแบบโดยอาศัยกฎแรงดึงดูดของโลก โดยนำน้ำไปเก็บไว้บนที่สูงและใช้หลักการยกระดับที่ช่วยเพิ่มแรงดันน้ำ ทำให้เกิดเป็นน้ำพุพุ่งสูงขึ้นไปได้ หลังจากเดินเล่นถ่ายรูปกันสักพักหิมะก็ทำท่าเหมือนจะตกลงมาอีก สงสัยสำหรับเรา Peterhof ในความทรงจำจะกลายเป็นพระราชวังฤดูหนาวไปซะแล้ว
หลังจากกลับเข้าเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กแล้ว สถานที่ถัดไปที่เราไปคือ Peter and Paul Fortress แปลตรงตัวก็คือป้อมปราการปีเตอร์และพอล เป็นป้อมปราการแห่งแรกของเมือง ด้วยที่ตั้งหันหน้าออกไปยังปากอ่าวฟินแลนด์ ตัวป้อมทำหน้าที่ป้องกันศัตรูที่มารุกราน และใช้เป็นคุกสำหรับคุมขังนักโทษทางการเมืองอีกด้วย
ภายในคล้ายๆ เมืองสมมติที่มีอาคารหลายๆ หลังอยู่รวมกัน ที่โดดเด่นคือ Peter and Paul Cathedral ซึ่งเป็นที่ฝังพระศพของเหล่าราชวงศ์โรมานอฟทุกพระองค์ ตั้งแต่สมัยที่พระเจ้าปีเตอร์มหาราชย้ายเมืองหลวงจากมอสโกมายังเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และส่วนที่ทำให้สะเทือนใจมากที่สุด คือห้องกว้างด้านขวามือ ซึ่งเป็นสุสานรวมของสมาชิกในครอบครัวพระเจ้าซาร์องค์สุดท้ายของรัสเซียและข้าราชบริพารผู้ภักดี
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2, พระราชินีซาริน่าอเล็กซานดร้า, และลูกๆ ของพระองค์ จนถึงทุกวันนี้ในห้องดังกล่าวยังมีหลุมศพที่ว่างอยู่ เตรียมไว้สำหรับเจ้าหญิงมาเรีย และเจ้าชายอเล็กเซที่หาพระศพไม่พบและคาดว่าคงสูญหายไปตามกาลเวลา ทำให้เกิดข่าวลือและความหวังที่ว่าอาจมีผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ร้ายในครั้งนั้น เป็นที่มาของภาพยนตร์เรื่องอนาสตาเซียนั่นเอง
ข้อสังเกต: ตอนที่เราเห็นข้อมูลพวกนี้ ก็นึกสงสัยในตัวเจ้าหญิงที่หายไป เพราะตามข้อมูลเขียนไว้ชัดเจนว่า เจ้าหญิงที่หายไปคือเจ้าหญิงมาเรีย ไม่ใช่เจ้าหญิงอนาสตาเซีย แต่ทำไมกระแสหลังจากนั้นจึงหันมาที่การตามหาเจ้าหญิงอนาสตาเซียแทน หลังจากไปศึกษาเพิ่มเติมเองก็พบว่า นักวิทยาศาสตร์ที่ชันสูตรชิ้นส่วนที่เหลืออยู่นั้นก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะทั้งสองพระองค์เป็นพระธิดาในลำดับต่อกัน มีอายุไล่เลี่ยกัน ที่สำคัญเป็นพี่น้องกัน จึงยากที่จะระบุให้แน่ชัดได้ว่าใครเป็นใคร เนื่องจากหลักฐานที่เหลืออยู่มีเพียงกระดูกที่ถูกเผาซึ่งมีอายุกว่าครึ่งศตวรรษ แต่ที่ Peter and Paul Cathedral แห่งนี้เขียนไว้ชัดเจนว่า พระศพของเจ้าหญิงอนาสตาเซียนั้นถูกฝังไว้เรียบร้อยแล้ว ส่วนคนที่หาไม่เจอและมีพื้นที่ว่างรออยู่คือเจ้าหญิงมาเรียและเจ้าชายอเล็กเซ
ถัดไปเราได้เข้าไปชมคุกที่ใช้คุมขังนักโทษคนสำคัญหลายคน หนึ่งในนั้นคือพี่ชายของวลาดิเมียร์ เลนิน ท่านผู้นำและนักปฏิวัติผู้โด่งดัง อเล็กซานเดอร์ อูลยานอฟ (เลนิน เป็นนามแฝงที่ใช้ในการปฏิวัติ นามสกุลจริงๆ ของเขาคือ อูลยานอฟ) ซึ่งถูกจับในข้อหามีส่วนร่วมในการวางแผนลอบปลงพระชนม์พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ส่งผลให้พี่ชายของเลนินถูกแขวนคอในเวลาต่อมา
สภาพห้องขังนั้นถูกเซตไว้ให้เสมือนถูกจองจำทุกประการ มีโต๊ะ เตียง ตะเกียงไฟ บางห้องแอบซ่อนลำโพงที่ส่งเสียงร้องครวญคราง และเสียงขูดกำแพงของนักโทษเพื่อความสมจริง แต่ละห้องจะมีภาพวาดของนักโทษที่เคยอาศัยแปะอยู่ ซึ่งบางส่วนในนี้เป็นนักโทษหญิงด้วย
หลังออกมาจากคุกก็เดินต่อไปเรื่อยๆ และเจอทางเข้าสำหรับ Temporary Exhibition ซึ่งเป็นนิทรรศการเล่าประวัติการก่อสร้าง Peter and Paul Fortress จึงทำให้นึกขึ้นได้ว่ายังไม่ได้ไปชม Permanent Exhibition ของที่นี่เลย จึงรีบเดินไปยังอาคารดังกล่าว ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการที่มีชื่อว่า History of St. Petersburg-petrograd
เมื่อไปถึงก็พบว่าใกล้เวลาปิดมากแล้ว พนักงานทำท่าไม่พอใจเท่าไหร่ที่เห็นเรา แต่ก็บอกว่าเหลือเวลาอีกหนึ่งชั่วโมงให้รีบเดินเพราะที่นี่มีสองชั้นและหลายห้องมาก เราก็ตกปากรับคำเพราะคิดว่าดูเพลินๆ ไม่น่าจะนาน แถมคำอธิบายส่วนมากเป็นภาษารัสเซียคงไม่ค่อยอินเท่าไหร่
ที่ไหนได้ นิทรรศการดีมาก เล่าความเป็นมาของเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กได้น่ารักมาก พระเจ้าปีเตอร์มหาราชได้ประทับอยู่ที่ป้อมปราการแห่งนี้เป็นที่แรกหลังย้ายเมืองหลวงมาจากกรุงมอสโก ก่อนจะค่อยๆ ก่อร่างสร้างเมืองมาจนถึงทุกวันนี้
ตัวนิทรรศการเก็บรายละเอียดไว้ดีมาก แถมจัดเรียงสวยงามน่าชม เสียดายที่มีเวลาน้อยไปหน่อยจึงไม่ได้ชมอย่างเต็มที่ แต่ทุกห้องทำไว้ได้อย่างน่ารัก แถมอนุญาตให้ถ่ายรูปอีกต่างหาก อยากจะแนะนำให้ทุกคนได้ไปชมและเผื่อเวลาไว้เยอะๆ ไม่เหมือนเราที่โดนพนักงานปิดไฟไล่ตามหลังตลอด รู้สึกยังดูไม่จุใจอยากจะใช้เวลาต่ออีกนานๆ
ออกมาจาก Peter and Paul Fortress ก่อนเวลาปิดไม่นาน ความจริงวันนี้ควรจะพักได้แล้ว เพราะเดินเยอะมาก แต่เพราะอากาศยังดีอยู่ และเราไม่ค่อยเชื่อใจพยากรณ์อากาศที่เปลี่ยนรายชั่วโมงสักเท่าไหร่ เลยคิดว่าถ้ามีสถานที่ไหนที่ยังอยากไป ยังเดินไหวอยู่ ควรรีบไปเลยดีกว่า
สถานที่สุดท้ายของวัน คือหนึ่งในเหตุผลหลักของทริปนี้ เนื่องจากเราชอบไข่ฟาบาร์เช่มาก เลยทำให้ลามไปสนใจเรื่องราวความเป็นมา เริ่มศึกษาประวัติของไข่ ใครเป็นริเริ่ม ใครเป็นคนให้ใคร และใครที่สามารถสร้างสรรค์งานสุดยอดช่างฝีมือขนาดนี้ออกมาได้ ค่ำวันนี้เราจึงเดินทางไปยัง Faberge Museum เพื่อตอบสนองความต้องการส่วนตัวล้วนๆ และขอเล่าให้ประวัติฟังคร่าวๆ เผื่อว่าจะมีคนอินตามๆ กัน :-P
ธรรมเนียมการมอบไข่ฟาบาร์เช่นั้นเกิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 โดยพระองค์ได้รับสั่งให้ช่างทองหลวง ปีเตอร์ คาร์ล ฟาบาร์เช่ รังสรรค์ของขวัญเนื่องในเทศกาลวันอีสเตอร์ให้กับสมเด็จพระราชินีซาริน่ามาเรีย ฟีโอโดรอฟน่า ไข่ใบแรกที่ฟาบาร์เช่จัดทำขึ้นนั้น ได้แรงบันดาลใจมาจากเครื่องประดับในสมัยเด็กของพระนางมาเรีย เมื่อครั้งยังเป็นเจ้าหญิงแห่งประเทศเดนมาร์ก ซึ่งไข่ใบนี้สร้างความประทับใจให้กับซาร์และซาริน่าเป็นอย่างมาก เกิดเป็นธรรมเนียมที่พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 จะสั่งไข่ใบใหม่ในทุกๆ เทศกาลอีสเตอร์ให้กับพระราชินีของพระองค์
และไม่เพียงแต่ในรัชสมัยของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 3 เท่านั้น หลังจากพระองค์เสด็จสวรรคต พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ได้สืบทอดธรรมเนียมนี้ โดยทุกๆ ปี พระองค์จะสั่งไข่จากฟาบาร์เช่ 2 ใบ ใบแรกมอบให้พระมารดา ส่วนอีกใบมอบให้ภรรยา หรือสมเด็จพระราชินีอเล็กซานดร้านั่นเอง
โดยตลอดสองรัชสมัย ฟาบาร์เช่ได้รังสรรค์ไข่ Imperial Egg ขึ้นมาทั้งหมด 50 ใบด้วยกัน ซึ่งในปัจจุบันกระจัดกระจายอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลก และในคอลเลคชั่นส่วนตัวของเหล่าเศรษฐี โดยในประเทศรัสเซียเองมีสถานที่จัดเก็บสำคัญอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ Armoury Chamber ใน Moscow Kremlin และพิพิธภัณฑ์ Faberge Museum แห่งนี้
เรื่องรายละเอียดและประวัติของไข่แต่ละใบนั้นเราจะขออนุญาตยกไปไว้อีกโพสหนึ่ง เพราะต้องว่ากันอีกยาว กลับมาที่ Faberge Museum ซึ่งแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่นตรงที่ปิดสามทุ่มเป็นปกติ จึงทำให้เราตัดสินใจว่าจะมาในวันนี้ เมื่อไปถึงก็แปลกใจเล็กน้อยเพราะเจอคนจำนวนมาก แต่คนที่แปลกใจไม่ได้มีแค่เราคนเดียว ทางเจ้าหน้าที่ก็แปลกใจไม่น้อยที่เห็นคนเอเชียหัวดำสองคนเดินเข้ามาในพิพิธภัณฑ์ เพราะรอบข้างมีแต่คนรัสเซียล้วนๆ จึงเป็นที่สะดุดตามาก มองกันตั้งแต่พนักงานตรวจกระเป๋า คนรับฝากของ ยันพนักงานขายในร้าน Museum Shop
ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์เองนั้นก็น่าสนใจ เพราะเป็นวังเก่าของชนชั้นสูงในอดีต ห้องจัดแสดงนั้นอยู่ด้านบนต้องเดินขึ้นบันไดตรงโถงกลาง แค่ห้องแรกก็รวบรวมไฮไลท์ทั้งหมดที่เป็นเหตุผลในการมารัสเซียของเราแล้ว ไข่ฟาบาร์เช่ทั้ง 9 ใบเรียงอยู่ในตู้ใครตู้มัน สามารถถ่ายรูปได้ 360 องศา เราทั้งฟัง audio guide ไปด้วย ถ่ายรูปไปด้วยเหมือนคนบ้า ซึ่งตามข้อมูลบอกว่าที่นี่เป็น second largest ที่มีไข่ฟาบาร์เช่ในครอบครอง เป็นรองแค่ Armoury Chamber เท่านั้น และนอกจาก Imperial Eggs แล้วยังมีไข่ที่ฟาบาร์เช่ทำให้ขุนนางหรือสมาชิกตระกูลสูงศักดิ์ในประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากรัสเซียอีก 2-3 ใบด้วย
หลังจากเต็มอิ่มกับห้องจัดแสดง Imperial Eggs แล้ว เดินต่อไปดูงานหัตถศิลป์อื่นๆ ของราชวงศ์โรมานอฟ ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะงานจากฟาบาร์เช่เท่านั้น ยังมีงานเครื่องเงิน งานกอสเปลเกี่ยวกับศาสนา ห้องที่โดดเด่นมากอีกห้องคือ ห้องที่เก็บรวบรวมถ้วยชามรามไห ข้าวของเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่มีการลงยาสีอย่างบ้าคลั่ง งัดเทคนิคสุดอลังการมาโชว์ ความรู้สมัยเรียนถึงกับกลับเข้ามาในหัว เช่น เรื่องเทคนิคการลงยาสีในงานเครื่องประดับ ที่แบ่งออกเป็นการลงยาสีเย็นและการลงยาสีร้อน สำหรับเครื่องเงินเครื่องทองนั้นส่วนมากเป็นการลงยาสีร้อนทั้งหมด และการลงยาร้อนก็แบ่งย่อยประเภทลงไปอีก เช่น การลงสีแบบทึบกับแบบโปร่ง หรือลงแบบมีฉากหลังหรือไม่มี เรียกว่า ความรู้ที่เคยคืนครูไปได้กลับมาใช้อีกครั้งที่นี่
ส่วนตัวชอบการจัดแสดงของชิ้นเล็กชิ้นน้อยในตู้ของที่นี่มาก เพราะจัดตามสี ไม่ได้แบ่งตามหมวดหมู่ เช่น ตู้นี้เก็บรวบรวมวัตถุที่เป็นสีชมพู ทุกอย่างในตู้ไม่ว่าจะเป็นก้านร่ม กล้องส่องทางไกลล้วนมารวมอยู่ในนี้หมด หรืออีกตู้เป็นสีขาว วัตถุจัดแสดงทั้งหมดเป็นสีขาวดูสวยสะอาดตา
สุดท้ายคืออยู่จนพิพิธภัณฑ์ปิดตอน 3 ทุ่ม ก่อนจะออกมาเป็นคนเกือบสุดท้าย ได้หนังสือจาก Museum Shop เป็นที่ระลึกหนึ่งเล่ม ซึ่งจะเป็นที่มาของโพสที่เกี่ยวกับ Imperial Eggs ล้วนๆ ติดตามได้เร็วๆ นี้!
ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ ได้เวลาเที่ยวรัสเซีย โดย ดร. จิรัฎฐ์ สิริเฉลิมพงศ์ และหนังสือ The Rulers of Russia ที่ซื้อมาจากร้านหนังสือใน Peterhof