หากใครเคยไปเที่ยวกรุงปารีส เมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศส ย่อมรู้จักและอาจเคยมีโอกาสสัมผัสกับย่าน Place Vendôme ใจกลางเมือง อันเป็นที่ตั้งของร้านขายเครื่องประดับหลากหลายแบรนด์ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีราคาสูง ชื่อคุ้นหู และมีสาขาทั่วโลก ไม่ว่าจะแบรนด์ใหญ่อย่าง Cartier, Van Cleef & Arpels หรือแบรนด์แฟชั่นอย่าง Chanel และ Louis Vuitton
ท่ามกลางบรรดาร้านเครื่องประดับสุดหรูเหล่านั้น หากไม่ทันสังเกตอาจเดินผ่านเลยไป กับร้านที่มี window display เป็นเครื่องประดับเพียง 1 ชิ้น และป้ายที่บอกชื่อแบรนด์ว่า JAR อยู่ด้านบน
ที่มา: Christopher Niquet
JAR (อ่านว่า จาร์) เป็นใครมาจากไหน ทำไมจึงมีหน้าร้านอยู่บนถนน Place Vendôme สุดหรูได้ แต่กลับใช้พื้นที่บริเวณนี้จัดหน้าร้านเหมือนกับปิดไว้ ราวกับไม่ต้องการต้อนรับลูกค้า และไม่พยายามจะนำเสนอเครื่องประดับใดๆ ออกสู่สายตาคนภายนอก สร้างความน่าสงสัยในตัวตนของแบรนด์ยิ่งนัก
เพราะนอกจากจะมีหน้าร้านเพียงแห่งเดียว JAR ไม่มีแม้กระทั่ง official website, ช่องทาง social media หรือกระทั่ง Facebook page ของตัวเอง ซึ่งตรงข้ามกับการตลาดจากทุกแบรนด์ แต่ในความเป็นจริง สิ่งเหล่านี้อาจไม่จำเป็นเลยสำหรับลูกค้าที่ต้องการครอบครองเครื่องประดับของ JAR เพราะมูลค่าแต่ละชิ้นนั้นสูงเกินกว่าที่คนทั่วไปจะเอื้อมถึง และในแต่ละปี JAR ยังผลิตเครื่องประดับออกมาไม่ถึง 100 ชิ้น
เพราะ JAR ไม่เคยออกเป็น collection และแต่ละชิ้นล้วนเป็น One of a kind
ที่มา: I like JAR Jewels
JAR มาจากชื่อย่อของผู้ก่อตั้ง Joel Arthur Rosenthal นักออกแบบชาวอเมริกันที่ข้ามมาสร้างชื่อเสียงทางฝั่งยุโรป ในวัยเด็ก Rosenthal มีความสุขกับการได้ชื่นชมความงามของเครื่องประดับผ่าน window display ของ Tiffany & Co. และซึมซับรสนิยมทางศิลปะจากพิพิธภัณฑ์ The Metropolitan Museum of Art ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่โปรดตลอดกาล เนื่องจากในวัยเยาว์ Rosenthal มักมานั่งสเก็ตภาพงานศิลปะต่างๆ ที่นี่ โดยปัจจุบันเขายังคงเก็บรักษาภาพร่างเหล่านั้นไว้อย่างดี
ในช่วงระหว่างปิดภาคเรียนปีหนึ่ง Rosenthal เดินทางไปยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่ซึ่งทำให้เขาได้มีโอกาสฝึกงานกับ Christian Dior และ Nina Ricci อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Rosenthal ตกหลุมรักปารีสและตั้งใจว่าจะกลับมาอีกในอนาคต ภายในระยะเวลาสองปี Rosenthal สำเร็จการศึกษาจาก Harvard University ในสาขา Art History & Philosophy หลังจากนั้นไม่นานจึงตัดสินใจย้ายมาอาศัยในกรุงปารีส ก่อนที่จะได้รู้จักกับ Pierre Jeannet หนึ่งในคนสำคัญที่นำความสำเร็จมาสู่ JAR ในเวลาต่อมา
Pierre Jeannet (ซ้าย) และ Joel Arthur Rosenthal (ขวา) สองผู้ก่อตั้ง JAR
ที่มา: Vanity Fair
เป็นเวลากว่า 40 ปีที่ Rosenthal กับ Jeannet จับมือกันสร้าง JAR ให้กลายเป็นแบรนด์เครื่องประดับที่มีชื่อเสียงระดับโลก จนได้รับการขนานนามว่าเป็น Fabergé ในยุคปัจจุบัน โดย Rosenthal ได้รับการยกย่องว่าเป็นตำนานที่ยังมีชีวิตและผู้คนในวงการต่างให้ความเคารพนับถือ จากรสนิยมในการใช้สี ดีไซน์ที่แตกต่าง และความเชี่ยวชาญของช่างฝีมือ ส่งผลให้ JAR โดดเด่นและเป็นที่จดจำเสมอมา
ผลงานของ JAR ส่วนมากได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงธรรมชาติ เห็นได้ว่ามีการนำพืชพันธุ์ ดอกไม้ ผลไม้ แมลง โดยเฉพาะผีเสื้อ มาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบเสมอ ประกอบกับการไล่เรียงสีสันของอัญมณีที่ไม่เหมือนใคร และการใช้เทคนิคฝังพลอยแบบจิกไข่ปลา (Pavé Setting) ทำให้พลอยเรียงติดกันจนแทบมองไม่เห็นตัวเรือนโลหะ เกิดเป็นมิติการไล่สีอัญมณีที่ทำให้เครื่องประดับมีชีวิตชีวาดูราวกับมาจากธรรมชาติ นับเป็นความสามารถและเอกลักษณ์เฉพาะตัว ส่งผลให้ JAR เป็นที่ต้องการของนักสะสมทั่วทุกมุมโลก
ที่มา: Quejadore Paris
จากชื่อเสียงที่สั่งสมมาหลายสิบปี บวกกับรายชื่อลูกค้าระดับแถวหน้า เครื่องประดับของ JAR กลายเป็นสินค้าหายาก กล่าวกันว่า ลูกค้าที่ต้องการครอบครอง JAR นั้นไม่เพียงแต่ต้องรวยมหาศาล แต่ยังต้องได้รับการแนะนำจากลูกค้าคนเก่าก่อน จึงจะสามารถเข้าถึงตัว Rosenthal ได้ เพื่อทำการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันก่อนที่ Rosenthal จะตัดสินใจสร้างสรรค์เครื่องประดับให้หรือไม่ โดยเขามีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธลูกค้าก็ได้ หากทัศนคติและรสนิยมของลูกค้าไม่ตรงกับภาพลักษณ์ของ JAR ไม่ว่าลูกค้าคนนั้นจะร่ำรวยเพียงใดก็ตาม
แต่ถึงแม้เครื่องประดับของ Rosenthal และลูกค้าของเขาจะลึกลับเพียงใด ในที่สุด JAR ก็ได้รับการเผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยเป็นการรวบรวมเครื่องประดับกว่า 400 ชิ้นที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของผู้ไม่ประสงค์เปิดเผยนาม โดยให้ยืมมาเพื่อทำการจัดแสดง นิทรรศการดังกล่าวมีขึ้นที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษในปี 2002
แน่นอนว่าภายในนิทรรศการไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ แต่ผู้เข้าชมจะได้รับไฟฉายคนละอันเพื่อใช้ส่องดูเครื่องประดับแต่ละชิ้นที่ถูกจัดแสดงบนผ้ากำมะหยี่สีดำ ภายในห้องที่แสงไฟมืดกว่าปกติ จากคำบอกเล่าของผู้เข้าชมถึงผลลัพธ์ที่เกิดจากการใช้ไฟฉายส่องลงดูเครื่องประดับนั้น แสงที่ตกกระทบทำให้อัญมณีดูสวยงามมากจนไม่อาจบรรยายได้ และยังทำให้เห็นรายละเอียดของเครื่องประดับได้ชัดเจนขึ้น สร้างความประทับใจแก่ผู้เข้าชมเป็นอย่างมาก
ที่มา: Jewel du Jour
11 ปีถัดมา JAR ได้กลับบ้านเกิดที่นิวยอร์ค โดยเป็นการจัดแสดงนิทรรศการที่รวบรวมผลงานของ Rosenthal เช่นเคย แต่ในขนาดที่ใหญ่ขึ้น และจัดขึ้นที่ The Metropolitan Museum of Art สถานที่แห่งความหลังของ Rosenthal ที่ครั้งหนึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเลือกเดินในเส้นทางสายศิลปะ
ที่มา: Jewels du Jour
“As a young boy, Joel Rosenthal frequently visited the Met to sketch his favorite works. It is fitting that the Museum now exhibits his works of art, making this culmination of a personal and artistic journey.”
Thomas P. Campbell, Director of the Metropolitan Museum of Art.
โทมัส แคมเบล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิลปะ The Met กล่าวไว้ในหนังสือของนิทรรศการ Jewels by JAR ว่า
“ในวันวานที่ Joel Rosenthal ยังเป็นเพียงเด็กน้อย งานศิลปะต่างๆ ใน The Met เป็นแรงบันดาลใจให้เขาเริ่มต้นสนใจศิลปะ และได้สเก็ตภาพเก็บไว้ ครั้งนี้พิพิธภัณฑ์กำลังจัดแสดงผลงานที่มาจากความคิดสร้างสรรค์ของเขา มันช่างเป็นบทสรุปที่งดงามสำหรับการเดินทางในเส้นทางศิลปะของศิลปินคนหนึ่ง”
สำหรับ The Met เองนับว่าเป็นครั้งแรกที่ได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับผลงานในลักษณะนี้เช่นกัน ถึงแม้จะไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับผลงานเครื่องประดับระดับโลก แต่เป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นเพื่อยกย่องศิลปินร่วมสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ ถือเป็นนิทรรศการครั้งใหญ่ที่น่าจดจำสำหรับวงการเครื่องประดับที่ทำให้ Rosenthal ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักออกแบบเครื่องประดับที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์
ผลงานบางส่วนจากนิทรรศการ Jewels by JAR ที่ The Metropolitan Museum of Art
ปัจจุบันในปี 2018 นี้ JAR มีอายุครบ 40 ปีพอดี ถือเป็นแบรนด์เครื่องประดับชั้นสูงเพียงแบรนด์เดียวที่ตัวผู้ก่อตั้งยังมีชีวิตอยู่ ทั้ง Joel Arthur Rosenthal และ Pierre Jeannet ยังคงจับมือกันอย่างเหนียวแน่นทั้งในด้านชีวิตส่วนตัวและการทำงาน ส่งผลให้เราได้เห็นเครื่องประดับของ JAR ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจได้อยู่เสมอ ถึงแม้ข้อมูลหรือรูปภาพของ JAR จะหาดูยากไปบ้าง แต่นั่นก็เป็นเสน่ห์ที่ทำให้แบรนด์ๆ นี้มีตัวตนที่เป็นเอกลักษณ์และชัดเจน จนยืนหยัดอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้
หากใครสนใจสามารถหาข้อมูลอ่านเพิ่มเติมได้ตาม link ด้านล่างนี้
ข้อมูลจากอินเตอร์เนต
- https://en.wikipedia.org/wiki/Joel_Arthur_Rosenthalhttps://www.nytimes.com/2001/06/12/news/fashfile-a-london-exhibition-for-jars.html
- https://www.ft.com/content/65e1b42c-277b-11e3-8feb-00144feab7de
- https://www.metmuseum.org/exhibitions/listings/2013/jewels-by-jar
- http://www.jewelsdujour.com/2014/01/jar-and-the-jewelers-who-inspired-him/
- https://www.telegraph.co.uk/culture/art/3585042/Bedazzled-by-the-gems-of-JAR.html
ข้อมูลจากหนังสือ