เรียกว่าพลิกทุกโผที่เคยทำนายถึงเทียร่าที่เมแกน มาร์เคิล หรือตำแหน่งปัจจุบัน The Duchess of Sussex หมาดๆ จะเลือกสวมในพิธีเสกสมรสกับเจ้าชายแฮร์รี่แห่งราชวงศ์อังกฤษ ปฏิเสธไม่ได้ว่าข่าวการแต่งงานของทั้งคู่นั้นอยู่ในความสนใจของคนทั้งโลก เห็นได้จากยอดการถ่ายทอดสดที่กระจายไปทั่วทุกทวีป โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาประเทศบ้านเกิดของดัสเชสที่ตื่นเต้นกับเหตุการณ์นี้มากจนมีการออกอากาศเกือบทุกช่อง
ก่อนหน้านี้ข่าวการสวมเทียร่าของเมแกนนั้นได้มีการคาดเดากันไว้มากมาย เนื่องจากเทียร่าเป็นเครื่องประดับสำคัญในพิธีแต่งงาน และสมบัติของราชวงศ์อังกฤษนั้นมีมหาศาล ทำให้เกิดการวิเคราะห์ว่าเจ้าหญิงพระองค์ใหม่ของอังกฤษจะเลือกหรือได้รับพระราชทานเทียร่าชิ้นใดในวันสำคัญนี้
จากกระแสหลัก ทุกสื่อต่างลงความเห็นว่าเมแกนน่าจะสวมเทียร่าของเจ้าหญิงไดอาน่าในพิธีสำคัญ แต่กลับพลิกโผเมื่อดัสเซสแห่งซัสเซกส์ปรากฏกายพร้อมกับเทียร่าที่ไม่ได้เห็นมานานร่วม 60 ปี Diamond Bandeau Tiara หรือ Filigree Tiara ชิ้นนี้ ในอดีตเคยเป็นของขวัญที่พระราชินีแมรี่ได้รับพระราชทานเนื่องในวันแต่งงาน โดยพระองค์มีศักดิ์เป็นย่าของควีนอลิซาเบ็ธที่ 2 ผู้ปกครองประเทศอังกฤษและเครือจักรภพในปัจจุบัน
ความพิเศษของเทียร่าชิ้นนี้คือสามารถดึงเพชรเม็ดกลางออกมาใช้เป็นเข็มกลัดได้ ซึ่งถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของเครื่องประดับราชวงศ์ ที่ไม่เพียงแต่มีลักษณะการใช้งานจำเพาะอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่ยังสามารถถอดประกอบ ดัดแปลง และนำไปใช้ออกงานที่แตกต่างกันได้ด้วย
ที่มา: The Sun
ตามธรรมเนียมของราชวงศ์อังกฤษเทียร่าเปรียบได้กับสิ่งที่อยู่คู่กับพิธีเสกสมรสเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นการเลือกหรือการได้รับพระราชทานเทียร่าชิ้นใดนั้นจึงมีความสำคัญเป็นพิเศษ ในโพสนี้จึงขอย้อนดูความสวยงามและความร่ำรวยของราชวงศ์อังกฤษว่ามีเทียร่าชิ้นใดในครอบครองบ้าง และเจ้าสาวพระองค์ใดได้สวมใส่ในวันสำคัญของตน
Kate Middleton, The Duchess of Cambridge (2011)
นับย้อนไปเมื่อ 7 ปีที่ก่อนกับพิธีเสกสมรสของเคท มิดเดิลตันกับเจ้าชายวิลเลียม หรือพระยศในปัจจุบัน Duke and Duchess of Cambridge เจ้าหญิงเคทสวมเทียร่าของคาเทียร์ที่มีชื่อว่า Halo Tiara ซึ่งในช่วงแรกผู้คนต่างให้ความสนใจว่าเมแกน มาร์เคิลจะได้สวมเทียร่าชิ้นเดียวกันนี้หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ได้ถูกตัดทิ้งไปเนื่องจากขณะนี้ Halo Tiara ได้ถูกยืมไปจัดแสดงที่ประเทศออสเตรเลีย
โดยแต่เดิมเทียร่าชิ้นนี้เป็นของ Queen Mother หรือพระมารดาของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบ็ธที่ 2 ซึ่งประกอบด้วยเพชรกว่า 1,000 เม็ดที่เจียระไนในรูปทรงที่แตกต่างกัน โดยพระองค์โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ดัสเชสยืมมาใช้ในพิธีเสกสมรสกับเจ้าชายวิลเลียม
Zara Tindall (2011)
ซาร่า ทินดอล หรือชื่อเดิมคือ ซาร่า ฟิลลิปส์ เป็นพระราชนัดดา (หลาน) ในสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบ็ธที่ 2 แม่ของเธอคือเจ้าฟ้าหญิงแอนน์ ผู้ซึ่งเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระราชินีนาถ กับเจ้าชายฟิลิปป์แห่งกรีซ เทียร่าชิ้นนี้มีชื่อว่า Meander Tiara ซึ่งแต่เดิมเป็นของราชวงศ์กรีซ โดยพระมารดาของเจ้าชายฟิลิปป์ได้พระราชทานให้เจ้าหญิงอลิซาเบธ (พระยศในขณะนั้น) เป็นของขวัญเนื่องในพิธีอภิเษกสมรส ซึ่งสมเด็จพระราชินีเองได้พระราชทานต่อให้เจ้าฟ้าหญิงแอนน์ พระมารดาของซาร่า ฟิลลิปส์
Diana, Princess of Wales (1981)
หนึ่งในสมาชิกราชวงศ์ที่โด่งดังที่สุดในโลก เจ้าหญิงไดอาน่า เจ้าหญิงของประชาชน พระองค์เข้าพิธีเสกสมรสกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฏราชกุมารแห่งราชวงศ์อังกฤษและเครือจักรภพ เลดี้ไดอาน่า สเปนเซอร์ในขณะนั้นเลือกสวมเทียร่าประจำตระกูล แทนที่จะเลือกจากกรุสมบัติของราชวงศ์อังกฤษ Spencer Tiara จึงเปรียบเสมือนสายใยประจำครอบครัวสเปนเซอร์ เพราะนอกจากเจ้าหญิงไดอาน่าแล้ว ทั้งแม่และน้องสาวของเธอต่างก็ใส่เทียร่าชิ้นนี้ในพิธีแต่งงานของตน
โดยกระแสข่าวงานแต่งงานของเจ้าชายแฮร์รี่และเมแกน มาร์เคิลในช่วงแรก มีคนให้ความสนใจว่าเมแกนอาจจะเลือก Spencer Tiara ในวันสำคัญ แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นเนื่องจากพ่อแท้ๆ ของเมแกนไม่สามารถมาร่วมพิธีและทำการส่งตัวเธอได้ จึงต้องขออนุญาตให้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทำหน้าที่นี้แทน จึงทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่านี่อาจเป็นเหตุผลที่เธอไม่ได้สวมเทียร่าชิ้นนี้ เนื่องจากคงไม่เหมาะสมหากจะให้เจ้าฟ้าชาชาร์ลส์มาเดินคู่กับลูกสะใภ้ที่สวมเทียร่าของอดีตพระชายาของพระองค์
Princess Margaret, Countess of Snowdon (1960)
เจ้าหญิงมากาเร็ต พระขนิษฐาหรือน้องสาวเพียงพระองค์เดียวในสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบ็ธที่ 2 เสกสมรสกับแอนโธนี อาร์มสตรอง-โจนส์ในปี 1960 โดยเจ้าหญิงมากาเร็ตนั้นถือว่าเป็นราชวงศ์ที่มีความขบถอยู่ในตัว โดยพระองค์ไม่ทรงยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติ เทียร่าในวันแต่งงานของพระองค์คือ Poltimore Tiara นั้นมิใช่สมบัติของราชวงศ์อังกฤษ หากแต่เป็นเทียร่าที่พระองค์ทรงซื้อเอง นอกจากนี้ในพิธีเสกสมรส ตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้วผู้ส่งตัวเจ้าสาวจะต้องเป็นพ่อหรือญาติผู้ใหญ่ แต่ในกรณีของเจ้าหญิงมากาเร็ต พระราชบิดาพระเจ้าจอร์จที่ 6 ได้สวรรคตไปก่อนหน้านั้นถึง 8 ปี พระองค์จึงเดินเข้าพิธีเสกสมรสพร้อมกับเจ้าชายฟิลิปป์ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถ พระเชษฐภคินีของพระองค์นั่นเอง
Elizabeth II, Queen of the United Kingdom (1947) and Princess Anne (1973)
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งประเทศอังกฤษและเครือจักรภพ ควีนอลิซาเบ็ธที่ 2 พระองค์ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสเมื่อครั้งยังเป็นเจ้าหญิงอลิซาเบ็ธกับเจ้าชายฟิลิปป์แห่งกรีซ เรื่องราวความรักระหว่างสองพระองค์นั้นเหมือนคู่แท้ในนิยาย เนื่องจากทรงเจอกันตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และได้อภิเษกสมรสกันในที่สุด ในโอกาสพิเศษนี้สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบ็ธที่ 2 ทรงสวม Fringe Tiara ของ Queen Mary ซึ่งถือเป็นสมบัติล้ำค่าที่ได้รับตกทอดกันมาในราชวงศ์อังกฤษ โดยมีเรื่องเล่าน่าตื่นเต้นว่าในวันแต่งงานนั้นดันเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เทียร่าหักลงมา แต่เจ้าหญิงทรงยืนกรานที่จะสวมเทียร่าชิ้นนี้ ทำให้บรรดาข้าหลวงต้องรีบนำเทียร่าไปซ่อมที่ร้านก่อนจะนำกลับมาให้ทันพิธีการ ซึ่งหลักฐานจากอุบัติเหตุในครั้งนั้นปรากฏให้เห็นชัดเจนว่าเทียร่ามีช่องว่างที่ดูไม่เท่ากันอยู่ในช่วงกลาง
อย่างไรก็ตาม เทียร่าชิ้นนี้แทบไม่ได้นำมาใช้อีกหลังจากพิธีเสกสมรส เนื่องจากได้ถูกส่งคืนให้ Queen Mother หรือพระราชชนนีของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบ็ธที่ 2 แต่ภายหลังได้ปรากฏสู่สาธารณะอีกครั้งเนื่องในพิธีเสกสมรสของเจ้าฟ้าหญิงแอนน์ในปี 1973 แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการเลือกใส่เทียร่าเนื่องจากมีคุณค่าต่อสภาพจิตใจและมีความหมายต่อความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในราชวงศ์อังกฤษนั่นเอง
sources
- https://royalwatcherblog.com/2018/05/19/queen-marys-diamond-bandeau/
- https://us.hellomagazine.com/royalty/12017120625180/british-royal-family-wedding-tiaras/4
- https://www.townandcountrymag.com/society/tradition/a12265404/princess-margaret-wedding-to-lord-snowdon/
- https://www.telegraph.co.uk/luxury/jewellery/story-behind-queens-wedding-day-tiara-happened-snapped-hours/